วันอาทิตย์ที่ 14 กันยายน พ.ศ. 2551

เขื่อนศรีนครินทร์



ชื่อ เขื่อนศรีนครินทร์

ที่ตั้ง บริเวณบ้านเจ้าเณร ตำบลท่ากระดาน อำเภอศรีสวัสดิ์ จังหวัดกาญจนบุรี

เนื้อที่ อุทยานแห่งชาติเขื่อนศรี-นครินทร์มีเนื้อที่ประมาณ 1,532 ตารางกิโลเมตร หรือ 957,500 ไร่

ประวัติความเป็นมา

เนื่องจากป่าต้นน้ำลำธารของแม่น้ำแควใหญ่ เหนือเขื่อนศรีนครินทร์มีสภาพป่าสมบูรณ์เป็นภูเขาสลับซับซ้อน มีสัตว์ป่าชุกชุม และมีเอกลักษณ์ทางธรรมชาติที่สำคัญหลายแห่ง เช่น น้ำตกห้วยแม่ขมิ้น น้ำพุร้อน ถ้ำ และทะเลสาป ทั้งเพื่อเป็นการสนองมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 9 มกราคม พ.ศ.2522 ที่ให้รักษาป่าไว้โดยการประกาศให้เป็นอุทยานแห่งชาติ ในปี พ.ศ.2523 กองอุทยานแห่งชาติเดิม กรมป่าไม้ ได้มีคำสั่งที่ 71/2523 ลงวันที่ 11 มกราคม พ.ศ.2523 ให้นายนิสัย ฟุ้งขจร นักวิชาการป่าไม้ 5 ทำหน้าที่หัวหน้าอุทยานแห่งชาติเอราวัณ ทำการสำรวจ ประกอบกับในคราวประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการท่องเที่ยวจังหวัดกาญจนบุรี ครั้งที่ 3/2522 เมื่อวันที่ 27 ธันวาคม พ.ศ.2522 ผู้อำนวยการกองอุทยานแห่งชาติ (เดิม)(นายผ่อง เล่งอี้) ได้เสนอต่อที่ประชุมว่า กรมป่าไม้ มีโครงการจัดตั้งอุทยานแห่งชาติบริเวณน้ำตกห้วยแม่ขมิ้น อำเภอศรีสวัสดิ์ ดังนั้นจังหวัดกาญจนบุรี จึงได้แต่งตั้งคณะสำรวจของจังหวัดทำการสำรวจด้วยเช่นกัน พบว่าพื้นที่ป่ามีสภาพภูมิประเทศและทิวทัศน์สวยงาม มีลักษณะทางธรรมชาติที่เด่นหลายแห่งเหมาะสมจัดตั้งเป็นอุทยานแห่งชาติ กองอุทยานแห่งชาติ (เดิม) กรมป่าไม้ ได้นำเสนอคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติ มีมติในการประชุม ครั้งที่ 2/2523 เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม พ.ศ.2523เห็นสมควรดำเนินการกำหนดพื้นที่ดังกล่าวให้เป็นอุทยานแห่งชาติ โดยได้มีพระราชกฤษฎีกากำหนดบริเวณที่ดินป่าเขาพระฤาษี และป่าเขา - บ่อแร่ในท้องที่ตำบลชะแล ตำบลท่าขนุน ตำบลหินดาด ตำบลลิ่นถิ่น อำเภอทองผาภูมิ ตำบลเขาโจด ตำบลนาสวน ตำบลด่านแม่แฉลบ ตำบลหนองเป็ด ตำบลท่ากระดาน อำเภอศรีสวัสดิ์ และตำบลไทรโยค อำเภอไทรโยค จังหวัดกาญจนบุรี ให้เป็นอุทยานแห่งชาติในปี พ.ศ. 2524 ซึ่งประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 98 ตอนที่ 210 ลงวันที่ 23 ธันวาคม พ.ศ.2524 นับเป็นอุทยานแห่งชาติแห่งที่ 38 ของประเทศ กองอุทยานแห่งชาติ (เดิม) กรมป่าไม้ ได้กระทำพิธีเปิดป้ายอุทยานแห่งชาติเขื่อนศรี-นครินทร์อย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ.2529โดยมีปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (ดร.เถลิง ธำรงนาวาสวัสดิ์) เป็นประธานในพิธีเปิด


ลักษณะของเขื่อนและโรงไฟฟ้า

เป็นเขื่อนประเภทหินถมแกนดินเหนียวที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย มีความสูงจากฐานราก 140 เมตร สันเขื่อนยาว 610 เมตร กว้าง 15 เมตร พื้นที่อ่างเก็บน้ำ 419 ตารางกิโลเมตร มีความจุมากเป็นอันดับหนึ่งคือ 17,745 ล้านลูกบาศก์เมตร โรงไฟฟ้าเป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก ติดตั้งเครื่องกำเนิดไฟฟ้าจำนวน 5 เครื่อง เครื่องที่ 1-3 กำลังผลิต เครื่องละ 120,000 กิโลวัตต์ เครื่องที่ 4-5 เป็นเครื่องกำเนิดไฟฟ้าระบบสูบกลับ กำลังผลิต เครื่องละ 180,000 กิโลวัตต์ รวมกำลังผลิตทั้งสิ้น 720,000 กิโลวัตต์ งานก่อสร้างเขื่อนศรีนครินทร์ เริ่มเมื่อปี 2516 แล้วเสร็จในปี 2523 พระบาทสมเด็จ พระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้เชิญ พระนามาภิไธยสมเด็จพระศรีนครินทร์ มาขนานนามเขื่อน และเสด็จ พระราชดำเนินพร้อมด้วยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ไปทรงเปิดเขื่อน เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2524


ประโยชน์

เขื่อนศรีนครินทร์เป็นโครงการอเนกประสงค์ ซึ่งอำนวยประโยชน์ในด้านต่างๆ ดังนี้
- ชลประทานช่วยส่งเสริมระบบชลประทาน โครงการแม่กลองใหญ่ให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น โดยมี เขื่อนแม่กลองของกรมชลประทาน เป็นหัวงานทดน้ำเข้าสู่พื้นที่เกษตรได้ตลอดปีเป็นเนื้อที่ถึง 4,118 ล้านไร่
- ผลิตไฟฟ้า สามารถผลิตพลังงานไฟฟ้าได้เฉลี่ยปีละประมาณ 1,250 ล้านกิโลวัตต์ชั่วโมง
- บรรเทาอุทกภัย สามารถกักเก็บน้ำที่หลากมาในช่วงฤดูฝนไว้ในอ่างเก็บน้ำได้เป็นจำนวนมาก ช่วย บรรเทาอุทกภัยในเขตลุ่มน้ำแม่กลองให้ลดน้อยลง
- คมนาคมทางน้ำสามารถใช้เป็นเส้นทางเดินเรือขึ้นไปยังบริเวณอำเภอทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี และอำเภอบ้านไร่ จังหวัดอุทัยธานี ได้อย่างสะดวกและรวดเร็วขึ้น
- ผลักดันน้ำเค็มสามารถปล่อยน้ำลงผลักดันน้ำเค็มมิให้หนุนล้ำเข้ามาทำความเสียหายแก่พื้นที่บริเวณ ปากน้ำแม่กลองในช่วงฤดูแล้ง
- เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ปลาน้ำจืดที่อุดมสมบูรณ์ ช่วยเพิ่มรายได้ให้กับราษฎรอีกทางหนึ่งด้วย
- เขื่อนศรีนครินท์นับเป็นแหล่งท่องเที่ยวพักผ่อนหย่อนใจที่สวยงามอีกแห่งหนึ่งในจังหวัดกาญจนบุรี ให้ทั้งความรู้และความเพลิดเพลินแก่ผู้มาเที่ยวชมปีละเป็นจำนวนกว่าแสนคน และก่อให้เกิดการขยายตัวทางการท่องเที่ยวอย่างกว้างขวาง เช่น แพท่องเที่ยวในอ่างเก็บน้ำ เป็นต้น


ไม่มีความคิดเห็น: